ระหว่างวันที่ 2-5 เมษายน 2562 ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน โดยกระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เตรียมเป็นเจ้าภาพจัด การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 23 หรือ 23rd ASEAN Finance Ministers’ Meeting (AFMM) และ การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 5 หรือ 5th ASEAN Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting (AFMGM) รวมถึงการประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ที่จังหวัดเชียงราย
ความร่วมมือครั้งสำคัญนี้เพื่อให้ทุกประเทศสมาชิก มีความสามารถในการแข่งขัน มีนวัตกรรม มีความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก และเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลก
ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง บอกว่า สาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้จะมีการหารือแนวทางความร่วมมือทางการเงิน ในการอำนวยความสะดวก ลดต้นทุนการค้า...การลงทุนในภูมิภาคอาเซียน และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก
ในเวทีการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนจะได้พบปะหารือกับผู้แทนสถาบันการเงินระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ ธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักธุรกิจเอกชนกลุ่มต่างๆ อาทิ กลุ่มนักธุรกิจของอาเซียน, กลุ่มนักธุรกิจจากสหภาพยุโรป, กลุ่มนักธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา
“กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ เตรียมผลักดันให้ประเทศไทย ...ภูมิภาคอาเซียนสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยระบบศุลกากรดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนาการบริการทางการเงินให้ทั่วถึงสำหรับประชาชนทุกกลุ่มรายได้ ประชาชนจะสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวก รวดเร็วมากขึ้น”
ระบบดิจิทัล เช่น การสนับสนุนการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ผ่านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน การเชื่อมโยงระบบ QR Code การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบพร้อมเพย์ เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ทำให้การโอน...รับเงิน ง่าย มีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยสูง ธุรกิจส่วนตัว
นับรวมไปถึงสนับสนุนการใช้ “สกุลเงินท้องถิ่น” ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน
“การผลักดัน...ส่งเสริมระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยให้ทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศไทยสามารถเพิ่มปริมาณการค้า การลงทุน ตลอดจนอำนวยความสะดวกด้านการค้า...การลงทุนระหว่างกัน ทำให้เศรษฐกิจเติบโตไปพร้อมๆกันทั้งภูมิภาค ภายใต้การพัฒนา...ปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลได้อย่างทันท่วงที”
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน โดยเฉพาะที่เกิดจาก “สงครามการค้า” ระหว่างชาติมหาอำนาจ อย่างสหรัฐฯ...จีน สร้างผลสะเทือนไปแทบจะทุกภูมิภาค กลายเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายเตรียมการรับมือ โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้แล้วยังมีสิ่งท้าทายสำคัญก็คือการค้าในโลกยุคใหม่
“โลกดิจิทัล” รวมถึง “โลกของการเงินแห่งอนาคต” กับหลากหลายนวัตกรรมที่เกิดขึ้นนับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งให้เกิดความร่วมมือของอาเซียน ในการสร้างบทบาททางเศรษฐกิจ ในฐานะภูมิภาคที่กำลังก้าวเข้ามาความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงการเปิดเสรีทางการเงิน การโยกย้ายเงินผ่านระบบดิจิทัล
นับเป็นอีกหนึ่งในการค้ายุคใหม่ของโลก ที่แต่ละประเทศต่างต้องเร่งปรับตัวเข้าหา เพื่อให้ทันกับยุคกับสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ปี 2561 จะเป็นอีกปีที่อุตสาหกรรมการเงินและธนาคารจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี บริการรูปแบบใหม่ๆผ่านแอปฯ การเชื่อมโยงข้อมูลลูกค้าเข้ากับระบบเพื่อวิเคราะห์การนำเสนอผลิตภัณฑ์...บริการต่างๆที่ลูกค้าต้องการจริงๆ ไปจนถึงการใช้สมองกล AI ...เทคโนโลยี Blockchain
โลกการเงินจะพลิกโฉมเปลี่ยนไป “ผู้ใช้” สะดวกสบายมากขึ้นจะทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องเงินก็แค่หยิบสมาร์ทโฟน และในภาพใหญ่ “ภูมิภาคอาเซียน” ก็จะเป็นหนึ่งในภูมิภาคสำคัญ โดยเฉพาะอนาคตอันใกล้ที่จะเป็นทั้งตลาด...แหล่งทรัพยากร...แหล่งผลิต รวมถึงเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกเองอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบต่างๆ ทั้งเรื่องความมั่นคง สงครามเศรษฐกิจ หรือการถดถอยในภาพรวม
เร่งสร้างภูมิคุ้มกัน เติมพลังแห่งความสามัคคีของภูมิภาค เตรียมรับมือกับสถานการณ์ความพลิกผันของ “เศรษฐกิจ” และสถานการณ์ “การค้า” ของโลกที่กำลังระอุร้อนรอวันปะทุ.